วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การปกครองของไทยสมัยกรุงธนบุรี

          อาณาจักรธนบุรี เป็นอาณาจักรของคนไทยในช่วงเวลาสั้น ๆ ระหว่าง พ.ศ. 2310 - 2325 มีพระมหากษัตริย์ปกครองเพียงพระองค์เดียว คือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ภายหลังจากที่อาณาจักรอยุธยาล่มสลายไปพร้อมกับการปล้นกรุงศรีอยุธยาของกองทัพพม่า ทว่า ในเวลาต่อมา สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ และทรงย้ายเมืองหลวงไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน





          การปกครองในสมัยกรุงธนบุรียังคงมีรูปแบบเหมือนกับสมัยอยุธยาตอนปลาย พอสรุปได้ดังนี้
การปกครองส่วนกลาง หรือ การปกครองในราชธานี   มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดเปรียบเสมือนสมมุติเทพ มีเจ้าฟ้าอินทรพิทักษ์ดำรงดำแหน่งพระมหาอุปราช มีตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหารหรือสมุหพระกลาโหม มียศเป็นเจ้าพระยามหาเสนา และอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือนหรือสมุหนายก(มหาไทย) มียศเป็นเจ้าพระยาจักรี เป็นหัวหน้าบังคับบัญชาเสนาบดีจตุสดมภ์ 4 กรมได้แก่
1. กรมเมือง (นครบาล) มีพระยายมราชเป็นผู้บังคับบัญชา ทำหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองภายในเขตราชธานี การบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรและการปราบโจรผู้ร้าย
2. กรมวัง (ธรรมาธิกรณ์) มีพระยาธรรมาเป็นผู้บังคับบัญชาทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจการภายในราชสำนักและพิพากษาอรรถคดี
3. กรมพระคลัง (โกษาธิบดี) มีพระยาโกษาธดีเป็นผู้บังคับบัญชาทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับจ่ายเงินของแผ่นดิน และติดต่อ ทำการค้ากับต่างประเทศ
4. กรมนา (เกษตราธิการ) มีพระยาพลเทพเป็นผู้บังคับบัญชาทำหน้าที่เกี่ยวกับเรือกสวนไร่นาและเสบียงอาหารตลอดจน ดูแลที่นาหลวง เก็บภาษีค่านา เก็บข้าวขึ้นฉางหลวงและพิจารณาคดีความเกี่ยวกับเรื่องโค กระบือ และที่นา
การปกครองส่วนภูมิภาค หรือ การปกครองหัวเมือง
การปกครองส่วนภูมิภาคแบ่งออกเป็น หัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก หัวเมืองประเทศราช
         - หัวเมืองชั้นใน        จัดเป็นเมืองระดับชั้นจัตวา มีขุนนางชั้นผู้น้อยเป็นผู้ดูแลเมือง ไม่มีเจ้าเมือง ผู้ปกครองเมืองเรียกว่า ผู้รั้ง หรือ จ่าเมือง อำนาจในการปกครองขึ้นอยู่กับเสนาบดีจัตุสดมภ์ หัวเมืองชั้นในสมัยกรุงธนบุรี ได้แก่ พระประแดง นนทบุรี สามโคก(ปทุมธานี)
         - หัวเมืองชั้นนอก     หรือเมืองพระยามหานคร เป็นเมืองที่อยู่นอกเขตราชธานีออกไป กำหนดฐานะเป็นเมืองระดับชั้น เอก โท ตรี จัตวา ตามลำดับ หัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นอยู่กับอัครมหาเสนาบดีฝ่ายสมุหนายก ส่วนหัวเมืองฝ่ายใต้และหัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออก ขึ้นอยู่กับกรมท่า(กรมพระคลัง) ถ้าเป็นเมืองชั้นเอก พระมหากษัตริย์ จะส่งขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ออกไปเป็นเจ้าเมือง ทำหน้าที่ดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ
หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นเอก ได้แก่ พิษณุโลก จันทบูรณ์
หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นโท ได้แก่ สวรรคโลก ระยอง เพชรบูรณ์
หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นตรี ได้แก่ พิจิตร นครสวรรค์
หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นจัตวาได้แก่ ไชยบาดาล ชลบุรี
         -หัวเมืองประเทศราช       เป็นเมืองต่างชาติต่างภาษาที่อยู่ห่างไกลออกไปติดชายแดนประเทศอื่น มีกษัตริย์ปกครอง แต่ต้องได้รับการแต่งตั้งจากกรุงธนบุรี ประเทศเหล่านั้น ประมุขของแต่ละประเทศจัดการปกครองกันเอง แต่ต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการมาให้ตามที่กำหนด
หัวเมืองประเทศราช ในสมัยกรุงธนบุรี ได้แก่ เชียงใหม่ (ล้านนาไทย) ลาว (หลวงพระบาง,เวียงจันทน์, จำปาศักดิ์) กัมพูุชา (เขมร) และนครศรีธรรมราช


สภาพสังคมไทยสมัยกรุงธนบุรี
          สภาพสังคมไทยสมัยกรุงธนบุรี มีลักษณะคล้ายคลึงกับสมัยอยุธยา คือมีการแบ่งชนชั้นออกเป็น
1. พระมหากษัตริย์ เป็นชนชั้นสูงสุดในสังคม
2. พระบรมวงศานุวงศ์
3. ขุนนางข้าราชการ
4. ไพร่ เป็นชนชั้นที่มีมากที่สุดในสังคม
5. ทาส เป็นชนชั้นต่ำสุดในสังคม ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายเงินมาก
          สังคมไทยสมัยกรุงธนบุรีถูกควบคุมอย่างเข้มงวดมาก ด้วยเป็นเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในระหว่างอันตรายเพิ่งกอบกู้เอกราชคืนมาได้ ทั้งประสบความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ผู้คนหลบหนีเข้าป่าอย่างมากมาย ถูกกวาดต้อนไปพม่าก็มีมาก นอกนั้นต่างก็พยายามเอาตัวรอดโดยการตั้งเป็นก๊ก เป็นเหล่า ครั้นกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้ก็ยังต้องระมัดระวังภัยจากพม่าที่จะมาโจมตีอีก การควบคุมกำลังคนจึงมีความสำคัญมาก เพราะถ้ามีผู้คนน้อย ก็จะทำให้พ่ายแพ้แก่ข้าศึกศัตรูได้ ผู้คนในกรุงธนบุรีถูกควบคุมโดยการสักเลก ผู้ที่ถูกสักเลกทั้งหลายเรียกกันว่าไพร่หลวง ซึ่งมีหน้าที่รับราชการปีละ 6 เดือน โดยมาทำราชการหนึ่งเดือน และหยุดพักผ่อนไปทำมาหากินหนึ่งเดือนสลับกันไป ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่าเข้าเดือนออกเดือน มีไพร่หลวงอีกพวกหนึ่งเรียกว่าไพร่ส่วย คือเป็นไพร่ที่ส่งส่วยเป็นสิ่งของหรือเงินแทนการรับใช้แรงงานแก่ทางราชการ ส่วนไพร่สมเป็นไพร่ที่สังกัดมูลนายรับใช้แต่เจ้านายของตนเอง เพราะพวกนี้ถูกแยกเป็นอีกพวกหนึ่งเด็ดขาดไปเลย แต่บางครั้งไพร่สมก็ถูกแปลงมาเป็นไพร่หลวงได้เหมือนกัน การสักเลกก็เพื่อเป็นการลงทะเบียนชายฉกรรจ์เป็นไพร่หลวงเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงและหลบหนี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น