วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การปกครองของไทยสมัยกรุงสุโขทัย

สมัยสุโขทัย ( พ.ศ. 1792 - พ.ศ. 1981 )

          ในสมัยสุโขทัย การปกครองเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เนื่องจากอำนาจสูงสุดในการปกครองรวมอยู่ที่พ่อขุนพระองค์เดียว โดยพ่อขุนไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ในสมัย
สุโขทัยได้มีการจำลองลักษณะครอบครัวมาใช้ในการปกครอง ทำให้ลักษณะการใช้อำนาจของพ่อ
ขุนเกือบทุกพระองค์ เป็นการใช้อำนาจแบบให้ความเมตตาและให้เสรีภาพแก่ราษฎรตามสมควร
ลักษณะทางการเมืองการปกครอง
          ในสมัยสุโขทัย พ่อขุนแห่งกรุงสุโขทัยทรงเป็นประมุขและทรงปกครองประชาชนใน
ลักษณะ “บิดาปกครองบุตร” คือ ถือว่าพระองค์เป็นพ่อที่ให้สิทธิและเสรีภาพและมีความใกล้ชิดกับ
ประชาชน มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองป้องกันภัยและส่งเสริมความสุขให้ประชาชน ประชาชนใน
ฐานะที่เป็นบุตรมีหน้าที่ให้ความเคารพและเชื่อฟังพ่อขุน  พ่อขุนกับประชาชนในรูปแบบของการปกครองแบบบิดาปกครองบุตร ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน กล่าวคือ ประชาชนมีสิทธิถวายฎีกา หรือร้องทุกข์โดยตรงต่อพ่อขุนเช่น ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้มีกระดิ่งแขวนไว้ที่ประตูวัง ถ้าประชาชนต้องการถวายฎีกาก็จะไปสั่นกระดิ่ง พระองค์ก็จะเสด็จออกมาทรงชำระความให้  ในการจัดการปกครองอาณาจักรสุโขทัยซึ่งมีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี หรือเป็นเมืองหลวง  อำนาจในการวินิจฉัยสั่งการจะอยู่ที่เมืองหลวง ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์  พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยทรงดำเนินการปกครองประเทศด้วยพระองค์เอง โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ช่วยเหลือ ในการปกครองต่างพระเนตรพระกรรณ และรับผิดชอบโดยตรงต่อพระองค์


          อาณาจักรสุโขทัยได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่พระองค์ได้ทรงรวบรวมหัวเมืองน้อยใหญ่เข้ามาไว้ในปกครองมากมาย จึงยากที่จะปกครองหัวเมืองต่าง ๆ เหล่านั้นด้วยพระองค์เองได้อย่างทั่วถึง
การปกครองเมืองต่าง ๆ ในสมัยสุโขทัย  อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
          1. การปกครองส่วนกลาง
ส่วนกลาง ได้แก่ เมืองหลวงและเมืองลูกหลวง
เมืองหลวง คือ สุโขทัย อยู่ในความปกครองของพระมหากษัตริย์โดยตรง
เมืองลูกหลวง เป็นเมืองหน้าด่านที่อยู่รายล้อมเมืองหลวงทั้ง 4 ทิศ เมืองเหล่านี้พระมหากษัตริย์จะ
ทรงแต่งตั้งให้พระราชโอรสไปปกครอง ซึ่งได้แก่
(1) ทิศเหนือ เมืองศรีสัชนาลัย (สวรรคโลก)
(2) ทิศตะวันออก เมืองสองแคว (พิษณุโลก)
(3) ทิศใต้ เมืองสระหลวง (พิจิตร)
(4) ทิศตะวันตก เมืองกำแพงเพชร (ชากังราว) ในสมัยสุโขทัยเรียกเมืองหลวงและเมืองลูกหลวงรวมกันว่า ราชธานี
          2. การปกครองหัวเมือง
หัวเมือง หมายถึง เมืองที่อยู่รอบนอกอาณาเขตของเมืองหลวง ซึ่งมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
2.1 หัวเมืองชั้นนอก      หัวเมืองชั้นนอกเป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลกรุงสุโขทัย หรืออยู่รอบนอกอาณาเขตของเมืองหลวง
2.2 หัวเมืองประเทศราช      หัวเมืองประเทศราชเป็นเมืองภายนอกพระราชอาณาจักร เมืองเหล่านี้มีกษัตริย์ของตนเองปกครอง แต่ยอมรับในอำนาจของกรุงสุโขทัย พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยเป็นเพียงเจ้าคุ้มครอง โดยหัวเมืองเหล่านี้จะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวาย และส่งทหารมาช่วยรบเมื่อทางกรุงสุโขทัยมีคำสั่งไปร้องขอ
          ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง กรุงสุโขทัยมีหัวเมืองประเทศราชจำนวนมาก เช่น เมืองเซ่า น่าน
เวียงจันทน์ นครศรีธรรมราช ยะโฮร์ หงสาวดี เป็นต้น   ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เมื่อ พ.ศ.1826 ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น โดยใช้อักษรมอญและอักษรขอม รวมทั้งอักษรไทยเก่าแก่บางอย่างเป็นตัวอย่าง ทำให้ชาติไทยมีอักษรไทยใช้เป็นวัฒนธรรมของเราเอง
          ในสมัยสุโขทัย นอกจากจะมีความสัมพันธ์อันดีกับเมืองอิสระทางเหนือแล้ว ยังมีการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศด้วย เช่น จีน มอญ มลายู ลังกา และอินเดีย สมัยสุโขทัยจึงเป็นสมัยที่เริ่มมีชาวต่างประเทศเข้ามาประกอบการต่าง ๆ เช่น ชาวจีนเข้ามาทำเครื่องสังคโลก และเป็นสมัยที่มีการสนับสนุนการค้าโดยไม่เก็บภาษีศุลกากร หรือ “จกอบ” เพื่อเป็นแรงจูงใจสำหรับการค้าขายระหว่างประเทศมากขึ้น
          นอกจากนี้ พ่อขุนรามคำแหงยังทรงศรัทธาในหลักปฏิบัติที่เคร่งครัดของพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนานิกายหินยานที่มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในประเทศลังกา โดยได้ทรงนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ลัทธิลังกาวงศ์มาประจำที่กรุงสุโขทัย เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาลัทธิใหม่ และในเวลาไม่นานนัก พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ก็มีความเจริญในสุโขทัย ประชาชนพากันยอมรับนับถือและกลายมาเป็นศาสนาประจำชาติไทยในที่สุด   การนำพระพุทธศาสนาเข้ามา และพ่อขุนรามคำแหงได้ทรงทำตัวอย่าง ให้ประชาชนเห็นถึงความเคารพของพระองค์ที่มีต่อพระภิกษุและหลักธรรม ทำให้ศาสนากลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ก่อให้เกิดศีลธรรมจรรยาและระเบียบวินัยแก่ประชาชน ทำให้มีความสามัคคีปรองดองเป็น
อันหนึ่งอันเดียวกัน เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เพราะทั้งพ่อขุนและประชาชนมีหลักยึดและปฏิบัติในทางธรรม    พระมหาธรรมราชาลิไทย พ่อขุนของสุโขทัยในสมัยต่อมา ได้ทรงนิพนธ์หนังสือไทยเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ชื่อ “ไตรภูมิพระร่วง” และในหนังสือเรื่องนี้เอง ได้กล่าวถึง “ทศพิธราชธรรม” อันเป็นหลักธรรมของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
          อาณาจักรสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ต่อมาก็ค่อยๆ เสื่อมอำนาจ โดยบรรดาหัวเมืองประเทศราชต่าง ๆ เริ่มแยกตัวเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อสุโขทัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวเมืองเผ่าไทยทางใต้ คือ กรุงศรีอยุธยา ได้แผ่อำนาจเข้ามามีอิทธิพลเหนือกรุงสุโขทัย  ในที่สุด อาณาจักรไทยยุคสุโขทัยก็ต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของกรุงศรีอยุธยา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น